SCCCRN

ครม.ตั้งองค์กรน้ำระดับชาติถกกทม.แผนลอกคลอง

photo  , 650x433 pixel , 75,080 bytes.

ครม.เห็นชอบตั้งองค์กรบริหารน้ำระดับชาติ นายกฯ นั่งเป็นประธานบอร์ด มีอำนาจเบ็ดเสร็จสั่งการรับภัยพิบัติ ยิ่งลักษณ์ เผยเตรียมวางกรอบเยียวยาพื้นที่รับน้ำแล้ว พร้อมชี้แจงชาวบ้านระหว่างทัวร์เจ้าพระยา 13-17 ก.พ. ด้าน กทม.เรียก 50 เขตส่งแผนลอกคลองใน 10 ก.พ.

นางฐิติมา ฉายแสง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี รักษาการโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (7 ก.พ.) ว่า ครม.เห็นชอบตามมติคณะคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) เสนอให้ตั้งรูปแบบการจัดตั้งองค์กรบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (Single Commamand Authority) และร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ

โครงสร้างองค์กรดังกล่าว ประกอบด้วย 1.คณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กนอช.) มีหน้าที่ระดับนโยบายการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พร้อมมีหน้าที่กำหนดนโยบายการจัดทำแผนปฏิบัติการบริหารจัดการน้ำ โดยมี กยน.เป็นที่ปรึกษา 2.คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) มีอำนาจหน้าที่จัดทำจัดทำแผนปฏิบัติการและดำเนินการอื่นๆ ตามนโยบายของ กนอช. สั่งการให้หน่วยงานของรัฐปฏิบัติตามแผน กำกับดูแลและติดตามแผนปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดย กบอ. จะมีรองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี ที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานกรรมการ และ 3.สำนักนโยบายและการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (สนอช.) เพื่อปฏิบัติหน้าที่ให้กับ กบอ.

ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ไปปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ กบอ. สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในปี 2555 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ พ.ศ.... มีสาระสำคัญ คือการจัดให้มีองค์กรหนึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในฐานะศูนย์กลางหลักในการบริหารจัดการน้ำและการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับอุทกภัยทั้งระบบ เพื่อให้การกำหนดแนวทางการทำงาน การสั่งการ และการแก้ไขปัญหาให้เป็นไปอย่างรวดเร็วมีความสอดคล้องในการอำนวยการ การบริหารจัดการเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐทุกแห่งนำไปปฏิบัติในทุกพื้นที่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน (อ่านรายละเอียด น.2)

นายกฯ เผยวางกรอบเยียวยาน้ำท่วมแล้ว

ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการตรวจเยี่ยมลุ่มน้ำเจ้าพระยาระหว่างวันที่ 13-17 ก.พ.ของคณะรัฐมนตรีว่ามีคณะรัฐมนตรีที่ลงพื้นที่ล่วงหน้าเพื่อประชุมเตรียมงาน ซึ่งแผนบริหารจัดการน้ำเรื่องการชดเชยเยียวยาให้กับประชาชนในพื้นที่ที่ถูกเลือกเป็นพื้นที่รับน้ำและแก้มลิงนั้น ขณะนี้ได้วางกรอบแล้วทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก

เป็นการรู้คร่าวๆ แต่สิ่งที่เราอยากได้แน่นอนคือ แผนที่ กยน.วางไว้กับส่วนของจังหวัดนั้น จะต้องเป็นพื้นที่ที่มีผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุดเราก็จะเลือกบริเวณนั้น

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ค่าชดเชยจะมีแจ้ง แต่เชิงรายละเอียดคงไม่ขอประกาศทั้งหมด ยืนยันว่ารัฐบาลมีมาตรการชดเชย เช่น เมื่อน้ำถึงพื้นที่และเกิดน้ำนองภาครัฐจะดูแลประชาชนอย่างไร ซึ่งในช่วงที่เข้าไปทำงานในพื้นที่ รัฐบาลจะชี้แจงเป็นเรื่องๆ ไป เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างชัดเจน ซึ่งจะนำแผนทั้งหมดไปคุยในแต่ละจังหวัด

น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการทัวร์ลุ่มน้ำครั้งนี้ รัฐบาลต้องการไปติดตามและทำงานแบบบูรณาการรวมระหว่างคณะกรรมการ กยน.และพื้นที่รวมถึงกระทรวงต่างๆ ด้วย เพื่อให้พื้นที่รับรู้รับทราบรายละเอียดข้อเท็จจริงอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันจะไปติดตามความคืบหน้าของการฟื้นฟูว่าลงพื้นที่แล้วมีปัญหาอะไรอย่างไร โดยจะไล่ทำไปตั้งแต่เหนือ ลงมาที่กรุงเทพมหานคร

ยิ่งลักษณ์ ติง ครม.อย่าขนลูกน้องร่วมทัวร์ขมิ้นเยอะ

นางฐิติมา กล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรี ได้แจ้ง ครม.รับทราบเกี่ยวกับการเดินทางไปทัวร์ต่างจังหวัดตรวจสอบการบริหารจัดการน้ำในสัปดาห์หน้า โดยขอร้อง ครม.ว่าไม่ต้องนำผู้ติดตามไปมาก เพราะขบวนจะใหญ่โตมาก

ครม.รับทราบลอกคลอง กทม.

นางฐิติมากล่าวอีกว่า ที่ประชุม ครม.รับทราบการแบ่งงานขุดลอกคูคลองในพื้นที่ กทม.ภายใต้การบูรณาการความรับผิดชอบระหว่าง กทม. และ 9 กระทรวง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ กทม. และให้เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการในฐานะกรรมและเลขานุการคณะกรรมการบริหารศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนการบริหารการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (กบภ.) ทำหน้าที่ประสานงานและติดตามการดำเนินงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ กทม.ร่วมกับ กยน.

การขุดลอกคลองในพื้นที่ทั้งสิ้น 43 คลอง 48 รายการ ดังนี้ 1.การแบ่งงานขุดลอกคลองหลัก 29 แห่ง รวม 29 รายการ ได้แก่ กทม.19 คลอง กระทรวงกลาโหม 5 คลอง กระทรวงมหาดไทย 1 คลอง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 1 คลอง กระทรวงสาธารณสุข 2 คลอง กระทรวงแรงงาน 1 คลอง โดย กทม.โอนงบประมาณให้หน่วยรายการดำเนินการ และ 2.การขุดลอกคลองเพิ่มเติม 14 แห่ง และขยายความยาวของการขุดลอกคลองหลักเดิม 5 คลอง รวม 19 รายการ ได้แก่ กระทรวงวิทยาศาสตร์ 2 คลอง กระทรวงกลาโหม 10 คลอง กระทรวงมหาดไทย 1 คลอง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 2 คลอง กระทรวงคมนาคม 1 คลอง และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 3 คลอง

กทม.เผยลอกคลองเสร็จแล้ว 35%

นายวัลลภ สุวรรณดี รองผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกับผู้อำนวยการเขตทั้ง 50 เขต เกี่ยวกับแผนป้องกันน้ำท่วมว่า นายกรัฐมนตรีจะหารือกับจังหวัดปลายน้ำตอนล่าง อาทิ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี เพื่อกำหนดแผนงานร่วมกัน ในวันที่ 17 ก.พ.

ทั้งนี้ ได้มอบแนวทางให้สำนักงานเขตและสำนักการระบายน้ำ เร่งรัดขุดลอกคูคลอง ท่อระบายน้ำ และการกำจัดวัชพืชให้เสร็จภายในเดือน พ.ค. เพื่อรองรับน้ำฝนและปริมาณที่จะไหลเข้ากรุงเทพฯ โดยจากการที่รัฐบาลได้มอบหมายกองทัพบก เข้าช่วย กทม.ขุดลอกคลองมีจำนวน 343 คลอง งบประมาณ 770 ล้านบาท โดยจะแบ่งสำนักงานเขตรับผิดชอบ 1,098 คลอง สำนักการระบายน้ำ กทม. ได้รับผิดชอบ 62 คลอง ซึ่งทั้งหมดเป็นงบประมาณของ กทม. ซึ่งขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว 35%

ที่สำคัญคลองหลักที่เร่งดำเนินการต้องมีคลองที่มีความเชื่อมโยงกับระบบระบายน้ำหลัก และเป็นคลองที่เป็นแก้มลิงได้ หลัง 10 ก.พ.นี้ กทม.จะมีข้อมูลและแผนงานทั้งหมดว่าหน่วยงานใดรับผิดชอบพื้นที่ใด เพื่อจะทำให้ กทม.กำหนดแผนงานได้ชัดเจนว่าจะเร่งทำพื้นที่ใดก่อน นอกจากนี้ ผมได้สั่งการสำนักงานเขตทั้งหมด จัดทำแผนกำจัดวัชพืชในคูคลองที่เสี่ยงกับการขวางทางน้ำภายใน 14 ก.พ.นี้ด้วย นายวัลลภ กล่าว

รองปลัด กทม. กล่าวด้วยว่า คิดว่าระบบการป้องกันน้ำท่วมของ กทม. มีประสิทธิภาพในการรับมือดีกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากการขุดลอกคูคลองและการเปิดทางน้ำไหลจะทำให้คลองต่างๆ ลึกและกว้างขึ้น ซึ่ง กทม.ก็มีความมั่นใจ เนื่องจากเครื่องสูบน้ำของ กทม. มีความพร้อมถึง 90% ที่เหลืออีก 10% อยู่ระหว่างการซ่อมบำรุง

อย่างไรก็ตาม เรื่องที่น่าห่วง คือ พื้นที่ที่ยังขุดลอกคลองไม่ได้เนื่องจากติดบ้านเรือนประชาชนที่รุกล้ำคลอง ก็ต้องปล่อยให้เป็นพื้นที่ฟันหลอ โดย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการ กทม.จะลงพื้นที่ตรวจสอบในสัปดาห์หน้า

ที่มา bangkokbiznews.com

Relate topics