SCCCRN

โครงการชุมชนชายฝั่ง


ข่าวประชาสัมพันธ์

"CARE เตรียมจัดเวทีประสานความร่วมมือกับหน่วยงาน"

@20 มี.ค. 68 13:34

"CARE เตรียมจัดเวทีประสานความร่วมมือกับหน่วยงาน"

วันที่ 18 มีนาคม 2568 ประชุมคณะทำงานโครงการวิทยาศาสตร์พลเมืองเสริมพลังชุมชนชายฝั่งสงขลา(CARE) สรุปบทเรียนการจัดทำกิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการช่วงวันที่ 10-11 มีค.ที่ผ่านมา และเตรียมจัดประชุมสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาคส่วนต่างๆต้นเดือนเมษายน

เป้าหมาย สร้างความร่วมมือเชิงนโยบายและปฏิบัติการร่วมกับทรัพยากรชายฝั่งส่วนกลางและพื้นที่ รวมถึงหน่วยงานต่างๆในการขยายผลการศึกษาจัดทำแผนที่ความเสี่ยงชายฝั่งจ.สงขลา และเสริมหนุนการขับเคลื่อนของชุมชน หน่วยงานเป้าหมาย : ทช.ส่วนกลางและพื้นที่ ศูนย์อุตุฯภาคใต้ฝั่งตะวันออก สสว.11 ปภ.เขต 12 ปภ.จังหวัด ทสจ. พมจ. โยธาธิการและผังเมือง อบจ. ม.อ./ศูนย์วิจัยภัยพิบัติฯ มทร.ศรีวิชัย/คณะสถาปัตย์ฯ อปท.ในพื้นที่ 6 ตำบล(สำนักปลัด กองช่าง กองสาธารณสุข) หอการค้า สมาคมเอสเอ็มอี สมาคมการท่องเที่ยว สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และแกนนำคณะทำงาน 6 พื้นที่

ส่งหนังสือเชิญพร้อมเอกสารแนะนำโครงการ 1 หน้า A4 เอกสารแนะนำการจัดทำแผนที่ความเสี่ยง พร้อมบัญชีรายชื่อหน่วยงานที่เชิญเข้าร่วม

กิจกรรมหลัก เชิญรองผู้ว่าฯเข้าร่วม นำเสนอโครงการ และการจัดทำแผนที่ความเสี่ยง พร้อมข้อเสนอความร่วมมือ หน่วยงานสำคัญ บอกเล่าบทบาทและแนวทางความร่วมมือ จัดประชุมวันที่ 8 เมษายน เวลา 09.00-12.00 น. พร้อม live สดการประชุม

กิจกรรมที่จะดำเนินการต่อไป วันที่ 5 เมษายน นัดทีมเก็บข้อมูลและพื้นที่ตำบลตลิ่งชัน ณ มูลนิธิชุมชนสงขลา และประชุมคณะทำงานโครงการ 21 เมษายน 2568  เวลา 10.00-12.00 น.

เสริมพลังชุมชนชายฝั่งสงขลา รับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการกัดเซาะชายฝั่งด้วยวิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง

@20 มี.ค. 68 13:03

เสริมพลังชุมชนชายฝั่งสงขลา  รับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการกัดเซาะชายฝั่งด้วยวิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง

ประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพคณะทำงานโครงการวิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองเสริมพลังชุมชนชายฝั่ง ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก ดำเนินการโดยมูลนิธิชุมชนสงขลา ร่วมกับกลุ่ม Beach for life โดยโครงการดังกล่าวมุ่งเน้นการส่งเสริมชุมชนชายฝั่ง 6 ตำบลในพื้นที่จังหวัดสงขลา ได้แก่ ตำบลบ่อตรุ ตำบลชุมพล ตำบลม่วงงาม ตำบลบ่อยาง ตำบลตลิ่งชัน และตำบลเกาะสะบ้า ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายให้สามารถเรียนรู้และทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การส่งเสริมการจัดทำแผนชุมชนเพื่อการปรับตัวรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงต่อสภาพภูมิอากาศ
การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้เป็นการเสริมพลังชุมชน และสร้างความเข้าใจต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กระทบต่อพื้นที่ชายฝั่งจังหวัดสงขลา โดยการประมวลผลการศึกษาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและการเปลี่ยนแปลงชายฝั่ง โดย รศ.ดร.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง ที่ปรึกษาประจำโครงการ ให้แก่ชุมชนชายฝั่งที่เข้าร่วมประชุมได้รับทราบผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการจัดทำแผนที่เสี่ยงภัยการกัดเซาะชายฝั่งจังหวัดสงขลา และปฏิบัติการให้ชุมชนชายฝั่งได้ระดมความคิดเห็นแลกเปลี่ยนผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการกัดเซาะชายฝั่งที่ชุมชนเผชิญปัญหา
รวมถึงการร่วมกันพูดคุย กำหนดแผน เครื่องมือในการจัดทำข้อมูลชุมชน เพื่อทำความเข้าใจสภาพชุมชน ระบบนิเวศของชุมชน และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นกับชุมชนในจังหวัดสงขลา และการกำหนดเป้าหมายการปรับตัว รับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยใช้กระบวนการวิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง
ความมุ่งหมายของโครงการนี้เพื่อหนุนเสริมการทำงานของชุมชนในการใช้ข้อมูลวิทยาศาสตร์ในการรับมือและการปรับต่อต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการกัดเซาะชายฝั่งที่เกิดขึ้นกับชุมชน ติดตามการทำงานร่วมกันได้ที่ https://scccrn.org

ประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพคณะทำงาน

10-11 มีนาคม 2568

ณโรงเเรมวีว่า จังหวัดสงขลา

ขอบคุณข้อมูลจากเพจ Beach For Life Thailand

"ประชุมทีม CARE เดือนมกราคม 68"

@6 ม.ค. 68 12:25

"ประชุมทีม CARE เดือนมกราคม 68"

6 มกราคม 2568 ประชุมทีมกลางโครงการ CARE หลังได้รับงบประมาณงวดที่ 1 มาเมื่อกลางธันวาคมที่ผ่านมา

1)กิจกรรมหลักที่กำลังดำเนินการ คือ การพัฒนาร่างคู่มือดำเนินงานโครงการ ประกอบด้วยเนื้อหาหลักๆ ได้แก่ 1.รายละเอียดโครงการภาพรวมทั้งหมด 2.เครื่องมือและกระบวนการดำเนินงาน ได้แก่ การทำแผนที่ความเสี่ยง(รอข้อมูลจาก ดร.สมปรารถนา) การวัดชายหาด(มีข้อมูลแล้ว) การประเมินความเปราะบางของชุมชนรวมถึงการเก็บข้อมูลประกอบการทำแผน (การพัฒนาชุมชนโครงสร้างพื้นฐานของชุมชนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ/ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกิดภัยพิบัติในพื้นที่ และความเปราะบางของชุมชน/การเตรียมความพร้อมของชุมชนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ/แบบประเมินความพร้อมด้วยตนเองขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อจัดการภัยพิบัติ (UN-DRR Self-Assessments: LG-SAT)กรอบการทำงานตามแนวคิดการดำรงชีวิตที่ยั่งยืน (The Sustainable Livelihoods Framework:SLF)วิสัยทัศน์ของชุมชนในอนาคต) การสำรวจพันธุ์ไม้(รอข้อมูลจากน้ำนิ่ง) 3.แบบฟอร์มต่างๆ ใบเสร็จการเงิน

2)ทีมเล็กนัดหมายพื้นที่เป้าหมาย ลงพื้นที่พบทีมงาน 2 ครั้ง ครั้งแรกลงในช่วงเดือนมกราคม ช่วงที่สองลงช่วงเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อทำความเข้าใจภาพรวมโครงการ ช่วยพื้นที่จัดตั้งคณะทำงานพื้นที่ละ 15 คนประกอบด้วยแกนนำ 5 คน(ผู้รับผิดชอบ ผู้ประสานงาน การเงิน ทีมข้อมูล)และสมาชิก ที่ควรมีองค์ประกอบเป็นผู้นำทั้งทางการและธรรมชาติ มีเยาวชน มีผู้หญิง มีกลุ่มอาชีพ เป้าหมายสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง

รวมถึงวิเคราะห์จุดเด่น ความสนใจของพื้นที่ต่อการดำเนินโครงการ

คู่ขนานกับทีมดร.สมปรารถนา ลงพื้นที่เพื่อกำหนดแนวทางการวัดชายหาดให้กับชุมชนเป้าหมาย 18-19 มกราคม และ1-2 กุมภาพันธ์ การวัดชายหาดเป็นกิจกรรมที่มุ่งหวังให้ทำอย่างต่อเนื่อง

3)ส่งรายงานความก้าวหน้า 15 มกราคมนี้ ส่งความก้าวหน้าการเงินและการดำเนินงานงวดที่ 1 ทีมเล็กรวบรวมและส่งข้อมูลให้กับดร.ผกามาศไม่เกิน 20 มกราคม 2568

4)นัดประชุมทีมอีกครั้ง 10 กุมภาพันธ์ เวลา 10.00-12.00 น. ออกแบบการประชุมเชิงปฏิบัติการให้กับทีมงานพื้นที่ๆละ 10 คน6 พื้นที่ วันที่ 3-4 มีนาคม 2568 ทำความเข้าใจแนวคิดหลักของโครงการ รวมถึงเครื่องมือการเก็บข้อมูลที่เตรียมไว้ และให้พื้นที่ออกแบบการเก็บข้อมูลเฉพาะของตัวเอง

"เตรียมทีม ๖ ชุมชนโครงการ CARE" พื้นที่ชุมชนชายฝั่งทะเลสงขลา

@11 พ.ย. 67 09:38

"เตรียมทีม ๖ ชุมชนโครงการ CARE"

วันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๗ ประชุมแกนนำโครงการวิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองเสริมพลังชุมชนชายฝั่งสงขลา(CARE) ที่จะดำเนินการกับ 6 ชุมชนชายฝั่งสงขลาในเร็วๆนี้ โดยมีผู้เข้าร่วม 23 คนประกอบด้วย ดร.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง ดร.ผกามาศ ถิ่นพังงา ทีมมูลนิธิชุมชนสงขลา คุณอภิศักดิ์ ทัศนี (น้ำนิ่ง) ผู้ประสานงานกลุ่ม Beach for life Thailand  และแกนนำชุมชน ณ ห้องประชุมมูลนิธิชุมชนสงขลา พบรูปแบบการไหลของน้ำทะเลเปลี่ยนแปลง

๑.พื้นที่ตำบลบ่อตรุ อำเภอระโนด  มี ๑๐ หมู่บ้าน ที่นี่มีพัง(สระน้ำ) ๕๒ พัง ที่เป็นแหล่งเก็บน้ำ โดยมีการปรับภูมิทัศน์พัง และพังใช้ประโยชน์ในด้านการเกษตรเป็นหลัก มี “วัง” คือพื้นที่ที่ติดกับทะเล ได้ถูกเปลี่ยนสภาพไปเป็นการทำบ่อกุ้ง สภาพของน้ำเป็นน้ำกร่อย จุดเด่นของพื้นที่มีป่าชายหาดที่เป็นแนวกันลมมีความยาวประมาณ ๑๐ กิโลเมตร  ปี ๕๓ เกิดผลกระทบหนัก ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเนื่องจากฤดูกาลน้ำทะเลหนุน และพายุ ธรรมชาติในอดีตเมื่อมีพายุจะมีน้ำพัดเข้าบ้าน ความกังวลของพื้นที่คือหากลมและฝนมาพร้อมกันอาจส่งผลกระทบหนักกับชุมชน  หากมีการฟื้นฟูป่าชายหาดระยะทาง ๑๐ กิโลเมตรได้จะทำให้เป็นพื้นที่แนวกันลมและเป็นแหล่งอาหารให้กับชุมชน เช่น การปลูกต้นขี้เหล็ก สะเดา เสริมเป็นป่ากินได้ และอาจพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ด้วย

๒.พื้นที่ตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งมีน้อย สิ่งที่กระทบมากคือลม ทำให้กระทบต่อการทำมาหากินของชาวประมง รายได้น้อยลง ปีนี้พบว่าน้ำในทะเลร้อนมากขึ้นปลาลดลง ในชุมชนมีการทำธนาคารปู สิ่งที่มีความพยายามทำคือการเสริมสร้างอาชีพรองเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจครัวเรือน มีกลุ่ม ๒ กลุ่มสมาชิก ๖๖ คน

๓.พื้นที่ม่วงงาม อำเภอสิงหนคร ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่ค่อนข้างรุนแรง การแก้ปัญหา ซึ่งการแก้ปัญหาป้องกันการกัดเซาะบ้านเรือนยังไม่มี ปีนี้อาจส่งผลกระทบมาก  พบรูปแบบการไหลของน้ำทะเลเปลี่ยนไป ครึ่งปีหลังน้ำไม่ไหลตามกระแสน้ำขึ้นน้ำลง น้ำมีการยกตัวขึ้นวิ่่งตรงเข้าออกกับชายหาด พื้นที่บริเวณจากเกาะแมวจนถึงพังสาย ทิศทางกระแสน้ำและทางน้ำเปลี่ยนไปมาก ซึ่งกระแสน้ำลักษณะนี้หากเกิดพายุจะทำให้เกิดคลื่นแรงมาก อาจจะส่งผลกระทบต่อการกัดเซาะที่รุนแรงมากขึ้น

๔.พื้นที่บ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา  พื้นที่พบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณที่มีการเติมทราย กัดเซาะจนถึงโค้งถนนเก้าเส้ง กรมโยธาธิการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยการทิ้งหินบริเวณหน้าชุมชน ซึ่งทำให้เกิดการกัดด้านทิศเหนือ ส่งผลให้ต้นสนล้ม ชายหาดด้านทิศเหนือหาดหายไป เทศบาลแก้ไขโดยการใช้กระสอบทรายต่อเนื่องจนถึงหน้ามทร.ศรีวิชัย และเกิดการกัดเซาะต่อไปจนถึงวงเวียน จึงมีโครงการดูดทรายชายหาด บริเวณหัวสนหาดเก้าเส้งจนถึงสนามมวย แต่มีการทิ้งงานไม่สามารถดำเนินงานโครงการต่อได้ ตอนนี้สภาพการกัดเซาะจึงกลับมาเหมือนเดิม

๕.พื้นที่ตลิ่งชัน อำเภอจะนะ  มีปัญหาการกัดเซาะบริเวณตลิ่งที่มีความชัน ช่วงหน้ามรสุมจะมีประมาณ ๓-๔ เดือน การเกิดการกัดเซาะส่วนมากจะเป็นมรสุมจากภาคตะวันออก  ช่วงนี้เริ่มมีมรสุมเข้า ปัญหาคือเรือประมงไม่สามารถจอดได้เพราะคลื่นจะกระทบตลิ่ง เริ่มมีการนำเรือไปไว้ที่ปากบางที่สะกอม ซึ่งการหนีคลื่นเกิดขึ้นประมาณ ๖-๘ ปีแล้ว ซึ่งเดือนร้อนทุกปี ก่อนที่จะมีเขื่อนผันน้ำที่สะกอม เนื่องจากน้ำตื้นเขิน และต้องมีการขุดให้น้ำลึก รัฐบาลจึงคิดโครงการสร้างเขื่อนผันน้ำเข้าคลอง ๓๐ ปีที่ผ่านมา ทำให้การกัดเซาะชายฝั่งเริ่มมากขึ้นประมาณ ๗ กิโลเมตร บางพื้นที่มีการกัดเซาะทำให้ตลิ่งสูง ปัจจัยสำคัญคือลม พัดเอาทรายริมทะเลออก ทำให้ต้นสนริมทะเลล้มลง บริเวณลานหอยเสียบเป็นพื้นที่เสียหายมาก ในพื้นที่สะกอม มีกลุ่มนักรบผ้าถุงเป็นกลุ่มท่องเที่ยว และมีผลิตภัณฑ์จากอาหารทะเล เช่น ข้าวยำดอกลาย กิจกรรมท่องเที่ยวเกาะขาม โฮมสเตย์ เป็นการท่องเที่ยวผสมผสานกับอาชีพประมง

แลกเปลี่ยนข้อมูลและให้ข้อเสนอแนะแนวทางการทำงาน ในการพัฒนาชุมชนชายฝั่ง เช่น พบขยะ และโฟมจำนวนมาก ทำอย่างไรให้นำขยะ หรือโฟมไปใช้ประโยชน์ได้เต็มที่มากขึ้น การใช้ประโยชน์ชายหาดในฐานะพื้นที่สาธารณะ การทำงานในภาพรวมของตำบล การศึกษาพันธุ์ไม้พื้นถิ่นชายหาดว่าแต่ละพื้นที่มีพันธุ์ไม้อะไรบ้าง เพื่อนำมาต่อยอด ใช้เป็นมาตรการสีเขียวรับมือผลกระทบ

แนวทางการทำงานต่อไป แต่ละพื้นที่ตำบลจัดตั้งกลไกทีม จำนวน ๑๕ คน ประกอบด้วยหัวหน้าทีม เลขา/ผู้ประสานงาน การเงิน มีตัวแทนเยาวชนที่จะร่วมเก็บข้อมูล มีตัวแทนเชิงพื้นที่หมู่บ้าน กลุ่มอาชีพ โดยประสานหน่วยงานและท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม(ถ้ามี)

หัวข้อทั้งหมด