SCCCRN

บทเรียนการรับมือ จากบันทึกน้ำท่วมหาดใหญ่ ปี 2543 และ 2553

by Little Bear @28 พ.ย. 54 21:19 ( IP : 122...93 ) | Tags : ความรู้ , น้ำท่วม , หาดใหญ่

โดย นพ. อมร รอดคล้าย

2543

การพึ่งตนเองและพึ่งพาอาศัยกันทางสาธารณสุข บทเรียนร่วมกันของอุทกภัย หาดใหญ่

 คำอธิบายภาพ : dscf7438 ภัยพิบัติครั้งร้ายแรงของหาดใหญ่ปลายเดือนพฤศจิกายน 2543 เกิดผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งในทันทีและต่อเนื่อง หากไม่ได้ร่วมทุกข์ด้วยกันในภาวะพิบัติครั้งนี้ คงยากที่จะมีความรู้สึกร่วมกันถึงสิ่งที่เกิดขึ้น อุทกภัยครั้งนี้รุนแรงเป็น 2 เท่าของปี 2531 ย่านตลาดกิมหยงแหล่งซื้อหาของกินของใช้ที่นักท่องเที่ยวนิยมน้ำท่วม 2 – 3 เมตร น้ำท่วมครั้งนี้ยาวนาน 3 – 7 วัน ขาดไฟฟ้าขาดน้ำกินน้ำใช้และอาหาร ในพื้นที่ 20 กว่าตารางกิโลเมตร ประชากรเกือบ 200,000 คน คนจำนวนไม่น้อยบ้านชั้นเดียวของเขาถูกน้ำท่วมจมหายไปขาดทั้งที่อยู่อาศัยและทรัพย์สิน ชีวิตนับแสนคนต่างได้ร่วมทุกข์ร่วมกันแต่สิ่งสำคัญประการหนึ่งคือเราได้เรียนรู้ร่วมกันถึงภาวะที่ต้องพึ่งตนเองและพึ่งพาอาศัยกันเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้และในอนาคต

1. เมื่อโรงพยาบาลศูนย์หาดใหญ่ถูกน้ำท่วม

อำเภอหาดใหญ่ มีลักษณะพิเศษทางระบบบริการสาธารณสุขหลายประการ จากจำนวนประชากรในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ประมาณ 150,000 คน นอกเขต 150,000 คน และผู้ไม่ได้ขึ้นทะเบียนรวมทั้งผู้เดินทางเข้าออกแต่ละวันอีกกว่า 200,000 คน อำเภอนี้ไม่มีโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลศูนย์หาดใหญ่เป็นทั้งโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลประจำอำเภอ มีโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีโรงพยาบาลเอกชนอีก 3 – 4 แห่ง มีโรงพยาบาลค่ายเสนาณรงค์ มีคลินิกเอกชนกว่า 100 แห่ง แต่ที่พิเศษคือมีศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาลนครหาดใหญ่ อีก 15 แห่ง ซึ่งนอกเวลาราชการมีแพทย์จากโรงพยาบาลหาดใหญ่ไปร่วมให้บริการ 5 แห่ง

แต่เมื่อน้ำท่วมหาดใหญ่ โรงพยาบาลหาดใหญ่ซึ่งเมื่อปี 2531 พื้นที่ส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบนอกจากคลังยาซึ่งอยู่ใต้ดิน ปีนี้น้ำท่วมโรงพยาบาลหาดใหญ่จนถึง OPD และ ER ซึ่งสูงกว่าระดับพื้นดินเกือบ 1.5 เมตร พร้อมกับน้ำท่วมโครงสร้างพื้นฐานของเมืองและตัวเมืองลงไปเกือบ 2 – 3 เมตร อาจจะเรียกได้ว่ามีเพียงโรงพยาบาลสงขลานครินทร์และโรงพยาบาลค่ายเสนาณรงค์เป็นเพียง 2 โรงพยาบาลกับสถานพยาบาลระดับคลินิกหรือศูนย์บริการสาธารณสุขอีกไม่กี่แห่งที่รอดพ้นจากน้ำท่วมครั้งนี้

3 นาฬิกาหลังเที่ยงคืนวันที่ 21 พฤศจิกายน 2543 พยาบาลและเจ้าหน้าที่ที่พักในโรงพยาบาลถูกระดมกันมาขนยาจากคลังยาชั้นใต้ดิน เจ้าหน้าที่ชายช่วยกันขนกระสอบทรายไปปิดทางลงชั้นใต้ดินตึกอุบัติเหตุใหม่ซึ่งเป็นห้องควบคุมระบบไฟฟ้าของตึกใหม่

6 นาฬิกา น้ำท่วมเลยขอบกั้นของชั้น 1 น้ำเข้าคลังยาใหญ่ แต่เราขนได้เกือบ 60 เปอร์เซ็นต์ มากระจัดกระจายอยู่ตึกอำนวยการชั้น 1

7 นาฬิกา มีเสียงเรียกใครเป็นผู้ชายไปช่วยขนกระสอบทรายจากห้องควบคุมมากั้นน้ำที่โรงไฟฟ้าเก่าเพราะน้ำสูงเกินที่จะกันที่ตึกใหม่ได้แล้ว

9 นาฬิกา หลังจากทุ่มเทปกป้องจุดวิกฤต น้ำเริ่มทรงตัว หาดใหญ่น้ำท่วมหมดแล้ว ผู้มีประสบการณ์น้ำท่วมปี 2531 บอกว่าน้ำท่วมเท่ากับปี 2531 แล้ว ไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคดับ น้ำประปาหยุดไหล โทรศัพท์ไม่สามารถใช้งานได้ ถัดจากนั้นอีกครึ่งชั่วโมง ระบบไฟฟ้าฉุกเฉินของโรงพยาบาลขัดข้อง

10 นาฬิกา ความไม่แน่ใจว่าระบบไฟฟ้าจะแก้ไขได้หรือไม่ ICU เปลี่ยนเครื่องช่วยหายใจเป็น Bird คลังเลือดเตรียมขนย้ายเลือดไปโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ คนไข้หนักที่ยังต้องใช้เครื่องช่วยหายใจที่ใช้ระบบไฟฟ้าเตรียมส่งโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ การเดินทางถูกตัดขาด เรือไม่สามารถเข้าโรงพยาบาลได้เพราะน้ำเชี่ยว รถบรรทุกของทหารได้รับการติดต่อ ทีมทหารถูกส่งเข้ามา เราเปิดประตูทางด้านหลังซึ่งรถชนิดพิเศษซึ่งสูงจากพื้นดินเกือบ 1.5 เมตรเข้ามาได้

11 นาฬิกาถึงเที่ยง เรี่ยวแรงที่ยังมีอยู่ของคนที่สามารถเข้ามาทำงานได้หรือตกค้างจากเมื่อคืน ถูกระดมกันเพื่อเลือกทางรอดที่ดีกว่าให้ผู้ป่วย การลำเลียงโดยทางรถจึงเริ่มขึ้นจนเสร็จสิ้น

ระบบไฟฟ้าฉุกเฉินถูกซ่อมแซมและดูเหมือนว่าจะใช้ได้อีกครั้ง ระดับน้ำเริ่มทรงตัว เราหวังว่าน้ำจะลด คนขับรถเตรียมรถแลนด์รุ่นเก่าซึ่งเราเตรียมไว้ออกหน่วยช่วยผู้ประสบอุทกภัยออกมาเพื่อออกไปติดต่อหาน้ำมันมาใช้กับระบบไฟฟ้าสำรอง เพราะคาดว่าการไฟฟ้าคงหยุดจ่ายไฟต่อเนื่องอีก 1 – 2 วัน (ในความจริงไฟฟ้าถูกจ่ายอีก 5 วันถัดมา) เราหวังว่าน้ำจะลด แต่คงต้องเตรียมการไว้ก่อน รถพอจะวิ่งไปได้โดยยึดกลางถนน ระดับน้ำทรงตัวผู้คนเริ่มเดินไปมาหาสู่กันแต่เราพบว่าหาดใหญ่ได้จมลงใต้น้ำแล้ว ปั๊มน้ำมันต่าง ๆ ถูกน้ำท่วม รถน้ำมันซึ่งต้องมาส่งให้โรงพยาบาลติดอยู่นอกเมือง หน่วยงานต่าง ๆ แม้แต่ดับเพลิงหรือกู้ภัยจมอยู่ใต้น้ำ เรากลับโรงพยาบาลและหวังว่าน้ำจะลด เราคงต้องช่วยตัวเอง ตลอดทางแม้ว่าเป็นวันแรกหลายคนเริ่มพบกับความยากลำบากทั้งการหาอาหารและความเจ็บไข้ไม่สบายของเขา สถานพยาบาลที่ไม่ถูกน้ำท่วมก็ห่างไกลออกไป โรงพยาบาลหาดใหญ่ ซึ่งอยู่ใจกลางเมืองก็อยู่กลางน้ำเช่นกัน เรายังหวังว่าน้ำจะลดอย่างไรก็ตามเราเปิดประตูด้านหลังให้คนป่วยสามารถเดินทะลุมายังตัวโรงพยาบาลซึ่งยังคงเปิดห้องฉุกเฉินทำการตลอดเวลา ตั้งแต่เช้าเชือกถูกขึงด้านหน้าโรงพยาบาลไว้เพื่อให้คนไต่เข้ามา ชุดชูชีพที่กลุ่มงานเวชกรรมสังคมเตรียมไว้ในการออกหน่วยช่วยผู้ประสบอุทกภัยถูกนำมาให้เจ้าหน้าที่ที่คอยไปรับคนหน้าโรงพยาบาลเรายังหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการบรรเทาทุกข์ให้คนหาดใหญ่

ตั้งแต่เย็นวันที่ 22 พฤศจิกายน 2543 เราได้ประสบกับความรู้สึกร่วมกันการพึ่งตนเองและพึ่งพาอาศัยกันในหมู่ผู้ร่วมทุกข์กันในโรงพยาบาลทั้งผู้ป่วย ญาติและเจ้าหน้าที่ เมื่อเย็นนั้นน้ำเริ่มขึ้นอีกครั้ง โดยไม่มีทีท่าว่าจะหยุด ฝนกระหน่ำลงมาอย่างไม่สิ้นสุด ไฟดับทุกอย่างมืดมิด มีแต่แสงจากไฟฉายและเทียนไข ผู้คนที่เดินไปมาหากันไม่สามารถไปมาถึงกันอีก ตึกอำนวยการน้ำเริ่มเข้า ยาจากชั้น 1 ถูกระดมกันไปช่วยขนขึ้นไปชั้น 2 ในโรงพยาบาลอาหารเริ่มร่อยหรอเพื่อเลี้ยงผู้ป่วย ญาติและเจ้าหน้าที่

วันพฤหัสที่ 23 พฤศจิกายน 2543 ระดับน้ำท่วมไม่มีวี่แววว่าจะหยุด ฝนยังคงกระหน่ำ เมืองเงียบสะงัด ทุกอย่างเหมือนกับจะหยุดนิ่งนอกจากสายน้ำ ผู้พักอาศัยในบ้านพักของโรงพยาบาลถูกประกาศให้ย้ายไปอยู่บนตึก รถยนต์จมนิ่งใต้สายน้ำ บ้านอาจไม่ปลอดภัยแม้ชั้น 2 สถานีวิทยุที่ออกอากาศได้เริ่มแจ้งข่าวการขอความช่วยเหลือ เรายังคงไม่มีไฟฟ้า น้ำประปา น้ำฝนพอเป็นที่พึ่ง ผู้ป่วยหนักเริ่มไม่ปลอดภัยในโรงพยาบาลใหญ่ เย็นวันที่ 23 ฟ้าเปิด หน่วยสื่อสารติดต่อกับเฮลิคอปเตอร์ของราชนาวีได้ การลำเลียงผู้ป่วยชุดใหญ่เพื่อส่งไปโรงพยาบาลสงขลานครินทร์จึงเริ่มขึ้น  โชคดีที่ตึกใหม่มีลานสำหรับเฮลิคอปเตอร์บนดาดฟ้าชั้น 10 โชคดีที่ทุกคนที่อยู่ในโรงพยาบาลร่วมแรงร่วมใจกัน เปล 1 เปลใช้คนประมาณ 10 คน ผลัดเปลี่ยนกันแบกหามไปทั้งเจ้าหน้าที่และญาติ กว่า10 เที่ยวที่เฮลิคอปเตอร์มารับผู้ป่วยหนักกว่า 60 คนจากโรงพยาบาลหาดใหญ่ไปโรงพยาบาลสงขลานครินทร์

เมื่อเราขึ้นไปชั้นบนสุดของตึกเราได้เห็นโชคร้ายและวิบัติภัยของโรงพยาบาลหาดใหญ่ เราอยู่กลางเวิ้งน้ำสุดลูกหูลูกตา บ้านชั้นเดียวจมอยู่ใต้น้ำ บ้านชั้นเดียวที่ยังเหลืออยู่มีผู้คนขึ้นไปอยู่อาศัยบนหลังคา ท่ามกลางความหนาวเย็นของสายฝน เราได้ตระหนักว่าเรายังห่างไกลจากความทุกข์ของชะตากรรมของคนอีกมากมาย สายน้ำ ความเงียบ ความมืดของค่ำคืนของเรายังอยู่ท่ามกลางหมู่มิตรที่พึ่งพาอาศัยกันได้ แต่คนจำนวนไม่น้อยยังอยู่กับความเดียวดายและหิวโหย เราพลัดพรากจากพ่อแม่และมิตรสหาย แต่เรารู้ว่าเขาอยู่ในที่ปลอดภัย แต่หลายคนไม่สามารถจะรับรู้ได้ เราเริ่มขาดแคลนอาหารแต่หลายครอบครัวไม่มีอาหาร เย็นวันที่ 23 พฤศจิกายน 2543 เมื่อฟ้าโปร่งอยู่ชั่วขณะ เราได้ยินเสียงเฮลิคอปเตอร์บินไปมา แต่เมื่อมืดลงเราได้มีโอกาสแค่รับฟังการเรียกหาความช่วยเหลือผ่านทางสถานีวิทยุสงขลานครินทร์ และสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย ซึ่งรับข้อมูลจากกลุ่มผู้ที่ยังมีโทรศัพท์มือถือติดต่อได้ แต่เราก็ตระหนักว่าจริง ๆ แล้วเราได้อยู่ในความมืดมิดและเงียบสะงัดที่ธรรมชาติได้พิชิตพวกเราลงอย่างราบคาบ เสียงขอความช่วยเหลือครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งไม่สามารถได้รับการตอบสนอง เรายิ่งตระหนักว่ามีคนอีกมากทุกข์ยากมากกว่านี้หลายเท่าที่ไม่สามารถแม้แต่จะเอาชีวิตรอดจากสายน้ำ ที่หาทางรอดบนความเวิ้งว้างของกระแสน้ำรอบด้าน (เมื่อน้ำลด 1 เดือนถัดมาผู้เขียนได้ตระหนักถึงวุฒิภาวะของคนหาดใหญ่ที่ผ่านภัยพิบัติอย่างตระหนักต่อตนเองและการดำรงอยู่ของชีวิต) ความเงียบและมืดมิดของคืนวันที่ 23 สายฝนที่โปรยปรายเป็นระยะ ความคิดคำนึงของแต่ละคนคงล่องลอยไปตามความเชี่ยวกรากและมืดมนของกระแสน้ำที่ตนเองได้ประสบ

เราต่างประสบภัยพิบัติครั้งนี้ในห้วงน้ำต่อเนื่องมาอีก 2 วัน หลายพื้นที่กินเวลาเกือบ 1 สัปดาห์ แต่วิบัติภัยต่อเนื่องจากความสูญเสียยังยาวนานกว่านั้น โรงพยาบาลเองคงต้องอาศัยเวลาฟื้นฟูเบื้องต้นไม่น้อยกว่า 1 เดือนและอีกยาวนานจากนั้น ประชาชนหรือแม้แต่พวกเราเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ประสบภัยพิบัติทั้งชีวิตทรัพย์สินยังคงประเมินไม่ได้ว่าเราจะสามารถฟื้นฟูมันให้กลับสู่สภาพเดิมได้หรือไม่ หรือได้เมื่อใด แต่ที่สำคัญคงเป็นความทรงจำที่ดำรงอยู่ แม้ว่าหลายคนอาจจะเก็บมันไว้ลึก ๆ เพื่อไม่ให้มันแปรเป็นความเศร้าโศกจากความสูญเสียที่เกิดขึ้น

2. บทที่ต้องเรียน

ในฐานะสถานบริการสาธารณสุข เราคงจะปกป้องผู้ป่วยที่อยู่ในโรงพยาบาลโดยการส่งต่อผู้ป่วยหนักและหนักมากไปโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ดูแลผู้ป่วยใน ญาติ เจ้าหน้าที่และผู้ป่วยฉุกเฉินที่ยังพอจะมาถึงเราได้ แต่หากเราตระหนักว่ายังมีคนทุกข์และยิ่งทุกข์หนักทั้งจากอุทกภัย ความขาดแคลนอาหาร ความเจ็บไข้ได้ป่วยที่ไม่อาจจะดูแลตนเองได้ ในฐานะที่เราเป็นบุคลากรทางสาธารณสุขความพยายามของเรา การลงทุนของรัฐ ในการสร้างสถานพยาบาลใหญ่โต เครื่องไม้เครื่องมือราคาแพง กลับไม่สามารถช่วยประชาชนที่เป็นเจ้าของภาษีอากรได้ เราตระหนักว่า แม้แต่การจะฝ่าข้ามสายน้ำเฉี่ยวกรากเพียง 50 เมตร เกือบเป็นไปไม่ได้ แต่วันนี้เมื่อเหตุการณ์ผ่านไป แม้ว่าเราหวังว่าในเหตุการณ์นั้นจะมีใครเป็นอัศวินม้าขาว มาจากจังหวัด มาจากกระทรวงสาธารณสุข หรือมาจากที่ใด ๆ แต่ด้วยเหตุผลเดียวกันคือในภาวะนั้นต่างก็ไม่มีใครสามารถเข้ามาได้ วันศุกร์ที่ 24 พฤศจิกายน 2543 เป็นวันแรก ที่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ คือท่านปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้เข้ามาและมอบหมายนโยบาย พร้อมสั่งการต่อการสนับสนุนในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามสิ่งที่เราตระหนักคือ ทำอย่างไร เราจะพึ่งตนเองและเป็นที่พึ่งพาอาศัยของกันและกันในหมู่ผู้ประสบภัยได้มากกว่านี้ เพราะเวลาเพียง

5นาที 1 ชั่วโมง 1 วัน ของผู้เจ็บป่วยของผู้ขาดแคลนอาหารหรือ เด็กซึ่งต้องอดนม และอยู่ในความหนาวเย็น อาจหมายถึงชีวิตของเขา

3. ไม่ใช่เพียงการป้องกัน

การป้องกันไม่ให้น้ำท่วม คงเป็นวิธีการที่ดีที่สุดของการป้องกันอุทกภัยแต่เมื่อธรรมชาติได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปและธรรมชาติได้สอนเราแล้วว่าวันหนึ่งธรรมชาติก็จะชนะเรา ความพยายามที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างกลมกลืนซึ่งเป็นสิ่งที่เราอยู่ห่างเกินไป ทำให้ความพยายามที่หน่วยงานต่าง ๆ ที่ว่าจะป้องกันน้ำท่วมได้อาจยังเป็นความฝันสำหรับวันนี้

4. พึ่งตนเองและพึ่งพาอาศัยกัน

การเตรียมการเพื่อรับภัยพิบัติที่ยังคงจะเกิดขึ้นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญในการที่จะป้องกันเราจากทุกข์ของภัยพิบัติ

อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ยังคงเป็นปัจจัย 4 ที่เราจำต้องหวนกลับมาตระหนักถึงความถึงความจำเป็น รถยนต์ ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ได้กลายเป็นความว่างเปล่าในภาวะที่เราจมอยู่กับอุทกภัย วิถีชีวิตที่ซื้ออาหารตามร้านอาหาร , รถเข็น, และร้านฟาสต์ฟุดไปวัน ๆ ทำให้หลายคนหลายครอบครัวไม่มีอาหารอยู่ในบ้านหรือไม่สามารถจะปรุงอาหารได้แม้ว่าพอจะมีอาหารแห้งอยู่บ้าง การหุงหาอาหารเอง การมีการเก็บตุนอาหารไว้บ้างได้ช่วยหลายคนหลายครอบครัวให้มีอาหารเล็ก ๆ น้อย ๆ ประทังชีวิตกว่าจะได้รับการช่วยเหลือ หลายคนหลายครอบครัวได้รับการช่วยเหลือจากบ้านใกล้เรือนเคียงที่พอจะมีอาหารแบ่งปันกัน บ้าน 2-3 ชั้นในย่านที่มีบ้านชั้นเดียวได้รับคนจากบ้านรอบ ๆ มาอยู่ด้วย หลายบ้านรับมาอยู่เกือบ 60 คน บ้านที่มั่นคงแข็งแรงในย่านน้ำเชี่ยวเก็บ (ช่วย) คนที่ไหลมาตามน้ำเพื่อพักอาศัยหลายสิบคน หลาย ๆ คนเมื่อสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างไปได้พอพึ่งพิงอาศัยอาหารที่อยู่ เสื้อผ้า และยารักษาโรคจากบ้านใกล้เรือนเคียง หรือ บ้านที่ตนได้ไปพักพิง บทเรียนเหล่านี้ในฐานะของบุคลากรสาธารณสุขอันเป็นสิ่งที่จะต้องทำให้ประชาชนมีความสุขเราจะทำได้อย่างไร

4.1 อาหาร

โรงพยาบาลหาดใหญ่

โดยปกติโรงพยาบาลเตรียมทั้งอาหารสดและอาหารแห้งไว้เพื่อให้บริการแก่ผู้ป่วยใน ช่วงหน้าฝน ฝ่ายโภชนาการจะเตรียมข้าวสาร อาหารแห้ง และก๊าซหุงต้มไว้มากกว่าปกติ น้ำท่วมครั้งนี้โรงพยาบาลยังสามารถมีอาหารไว้เลี้ยงดูทั้งผู้ป่วย ญาติ และเจ้าหน้าที่ แต่ปริมาณที่ต้องใช้เลี้ยงดูมากขึ้นหลายเท่าจากเฉพาะผู้ป่วยใน 400-500 คน/วัน เป็น กว่า 1,000 คน/วัน เมื่อย่างเข้าวันที่ 3 อาหารเริ่มร่อยหรอ แต่โชคดีว่าหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งเฮลิคอปเตอร์ สามารถเข้ามาลงบนลานจอดได้ ทำให้โรงพยาบาลได้รับสนับสนุนอาหารอย่างเพียงพอ และสามารถแจกจ่ายได้ น้ำดื่ม น้ำใช้ของโรงพยาบาลก็มีอยู่ตามที่เก็บน้ำหลายจุด รวมทั้งมีน้ำฝนที่ตกมาต่อเนื่อง แต่น้ำใช้ก็จำเป็นต้องใช้น้ำท่วมที่ขังอยู่สำหรับการชำระล้างบางอย่าง

การมีการตุนข้าวสารอาหารแห้ง และน้ำ การเตรียมการเรื่องการอุปกรณ์ประกอบอาหารเป็นสิ่งจำเป็น เมื่อน้ำท่วมตัวโรงพยาบาล ยุทธศาสตร์สำคัญอันหนึ่งในการปกป้องโรงพยาบาลคือการปกป้องโรงครัว แม้ว่าจะไม่มีแม่ครัวตัวจริงเพียงพอ เรายังพอจะระดมเจ้าหน้าที่ และญาติไปร่วมกันทำครัวได้ อาหารหลักที่เป็นที่รู้กันของโรงพยาบาลคือข้าวต้ม เพื่อจะให้เราสามารถยืดเวลาในการมีเสบียงอาหารนานพอก่อนที่จะมีใครเข้ามาช่วย

ชุมชน

ด้วยเหตุที่เราเริ่มมีครอบครัวเล็กที่ไม่ได้หุงหาอาหารเอง มีนักเรียน – นักศึกษา คนวัยแรงงานที่อาศัยในบ้านเช่า แฟลต อพาร์ตเม้นต์ ซึ่งไม่หุงหาอาหารเอง แต่ซื้อหาอาหารกินไปเป็นมื้อ ๆ ข้อเสนอก็คือ

  1. ครอบครัว ควรจะมีการหุงหาอาหารเอง แม้ว่าจะเป็นอาหารง่าย ๆ เช่น หุงข้าว ต้มแกงและไข่เจียว นอกจากจะทำให้เราประหยัดมีอาหารที่ดีมีคุณค่าในชีวิตประจำวัน การดำรงชีวิตแบบครอบครัวจะสมบูรณ์ขึ้น การพึ่งพาแต่ร้าน 7 –11 และรถเข็นจะลดลง เราควรมีเสบียงอยู่บ้างเราอาจจะซื้อหาอาหารสำเร็จทานด้วย แต่ที่สำคัญเราจะพึ่งตนเองได้แม้แต่ยามปกติหรือยามวิกฤต

  2. คนที่อยู่ตัวคนเดียว การปรุงอาหารอาจจะเป็นเรื่องดูเหมือนยุ่งยากแต่จริง ๆ แล้วไม่ การปรุงอาหารเป็นวิถีชีวิตที่สำคัญ เราอาจจะต้องเริ่มสอนวิชาการปรุงอาหารสำหรับคนตัวคนเดียวที่ง่ายและไม่ซับซ้อน ถ้าเคยดูหนังเกี่ยวกับการเดินป่าจะเห็นว่าแม้แต่เขาอยู่ในป่ามีหม้ออลูมิเนียมหนึ่งใบก็ยังสามารถหุงข้าว ต้มแกง ชงกาแฟได้ ความสุขจากการปรุงอาหารกินเองมีอยู่ตลอดมาและเมื่อน้ำท่วมอาหารแสนอร่อยเกิดจากน้ำมือของเราเอง อย่างไรก็ตามคงเป็นเรื่องยุ่งยากลำบากของหลายคน การมีเสบียงที่เป็นอาหารสำเร็จพร้อมกินข้าวกระป๋อง อาหารกระป๋อง น้ำ นม ฯลฯ อยู่บ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ ในห้องและเราหมุนเวียนรับประทานแล้วหามาใหม่ นอกจากจะทำให้เราไม่ต้องพึ่งพาร้านค้าตลอดเวลา 24 ชั่วโมง เราก็จะสามารถบริหารตนเองทั้งในยามปกติและเมื่อมีเหตุจำเป็น

4.2 เครื่องนุ่งห่ม

เราต้องเก็บรักษาเสื้อผ้าไว้ไม่ให้เปียกน้ำหมด แม้ว่าคงเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ต้องลงไปในน้ำหรือเปียกน้ำ แต่เสื้อผ้า 2 – 3 ชุด ผ้าขนหนูหรือผ้าห่มสักพืนจำเป็นที่จะต้องมีถุงพลาสติกที่กันน้ำเก็บรักษาไว้ ผู้เขียนจำเป็นต้องลุยน้ำและอยู่ในน้ำทุกวันติดต่อกัน 5 วัน แม้ว่าน้ำจะลดแล้ว ชุดที่ต้องใช้มี 2 ชุดหลักคือ ชุดเปียกและชุดแห้ง แม้ว่าจะต้องเปลี่ยนที่พัก ชุดแห้งประจำตัวก็ถูกใส่ถุงดำสำหรับใส่ขยะมัดปิดสนิทติดตัวไปด้วย ผู้ปกครองซึ่งมีลูกเล็ก ควรเก็บเสื้อผ้า ผ้าห่ม ผ้าเช็ดตัวให้เด็กไว้ในถุงพลาสติก เตรียมพร้อมไว้ในภาวะน้ำท่วม หากเมื่อเราต้องโยกย้ายหรือบ้านที่อยู่อาศัยถูกน้ำท่วมจะได้มีเสื้อผ้าแห้งให้เด็ก ๆ ได้เปลี่ยน หากจำเป็นต้องลงน้ำเราสามารถพลัดเปลี่ยนเสื้อผ้าเปียกมาใช้อีกได้

ชูชีพอาจจะไม่ใช่อุปกรณ์ปกติที่เป็นเครื่องนุ่งห่ม แต่กลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลหาดใหญ่มีชูชีพ 6 ตัว เพื่อใช้เวลาไปออกหน่วยช่วยผู้ประสบอุทกภัย แต่ครั้งนี้เราไม่ได้ออกไปที่ไหนไกล ชุดชูชีพถูกใช้เพื่อข้ามจากประตูโรงพยาบาลไปขึงเชือกฟากตรงข้ามโรงพยาบาล เพื่อรับคนไข้เข้ามาในโรงพยาบาล ได้ให้แพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่ที่คอยช่วยคนไข้อยู่ในน้ำได้รู้สึกปลอดภัยขึ้น เราประเมินว่าเราคงต้องมีชูชีพมากกว่านี้ แต่สำหรับประชาชนทั่วไปการมีขวด แกลลอนที่ปิดสนิท การมีกล่องโฟม แท่งโฟม ห่วงยาง ก็สามารถดัดแปลงเพื่อการผูกติดตัวไปหากต้องลงไปในน้ำ

พวกเราที่อยู่ในสถานีอนามัย อยู่ในโรงพยาบาลชุมชนและหน่วยงานที่ต้องช่วยเหลือผู้อื่น ต้องเตรียมทั้งอุปกรณ์ช่วยชีวิต ชูชีพ เสื้อผ้าแห้งและถุงกันน้ำ เพื่อจะได้ใช้อย่างทันที ทั้งช่วยผู้อื่นและป้องกันตนเอง

4.3 ที่อยู่อาศัย

เมื่อครั้งที่สถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติสร้างขึ้น หลาย ๆ คนมองถึงความไม่เหมาะสมของแบบที่ผู้ป่วยจะต้องขึ้นไปบนชั้น 2 ของอาคารใต้ถุนโล่ง น้ำท่วมครั้งนี้ทำให้เราพบว่า บ้านใต้ถุนโล่งคือภูมิปัญญาของคนไทยในเขตมรสุมที่มีน้ำท่วมหรือน้ำหลาก บ้านใต้ถุนโล่งคือการอยู่ร่วมที่กลมกลืนกับธรรมชาติ เรามีบ้าน 2 ชั้น 3 ชั้น โดยในชั้นหนึ่งเต็มไปด้วยข้าวของเครื่องใช้และในที่สุดธรรมชาติได้เลือกแบบบ้านที่เหมาะสมให้เราอีกครั้ง หลายคนอยากมีบ้านชั้นเดียว สร้างบ้านชั้นเดียวและวันหนึ่งเราได้อาศัยหลังคาของบ้านเป็นที่อยู่อาศัย

โรงพยาบาลหาดใหญ่มีตึกหลายชั้น มีลานเฮลิคอปเตอร์ซึ่งได้ช่วยเหลือทั้งการขนย้ายผู้ป่วยและส่งข้าวปลาอาหาร แต่โรงพยาบาลหาดใหญ่มีห้องใต้ดินไว้เป็นคลังยา มีลานจอดรถใต้ดินที่มีห้องควบคุมไฟฟ้าของอาคารใหม่ แล้วทั้งหมดจมลงใต้น้ำ

บ้านชั้นเดียวควรเป็นบ้านใต้ถุนสูง บ้าน 2 ชั้นไม่ควรมีเฟอร์นิเจอร์ที่มากเกินไปควรเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ทนน้ำและหรือโยกย้ายได้ง่าย

ควรมีอุปกรณ์พื้นฐาน เช่น เชือก ค้อน ตะปู ไม่ขีด ไฟฉาย เทียนไข ภาชนะใส่น้ำ ภาชนะหุงต้ม ฯลฯ ซึ่งในปัจจุบันหลายบ้านกลับไม่มีสิ่งเหล่านี้ให้พอหยิบใช้ได้ในยามวิกฤต

โรงพยาบาลหาดใหญ่และสถานพยาบาล ควรจะมี ชั้น 2 หรือกรณีสถานีอนามัยควรจะมีใต้ถุนสูง แต่หากจำเป็นที่อยู่ในเรือนชั้นเดียวควรมีตู้ลอยไว้เก็บของใช้ฉุกเฉิน ยาและวัสดุการแพทย์ฉุกเฉินและจำเป็นที่จะต้องเคลื่อนย้ายของใช้ฉุกเฉินไปยังที่ปลอดภัยก่อนที่น้ำจะท่วมถึง เพราะความเป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขอาจจะไม่สามารถทำอะไรได้เลยหากเราเองก็เหลือแต่มือเปล่า

4.3 ยารักษาโรค

เมื่อเกิดอุทกภัย ปัญหาสำคัญในการแสวงหาบริการสุขภาพคือการไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้ แนวคิดเรื่องการมียาสามัญประจำบ้าน การมีศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชน การมีศูนย์บริการสาธารณสุขหรือสถานีอนามัยนับเป็นความเหมาะสมที่จะเอื้ออำนวยให้การเข้าถึงบริการสุขภาพหรือยารักษาโรคเป็นไปได้ง่ายที่สุด โรงพยาบาลนับเป็นสิ่งที่ห่างไกลเมื่อระยะทางเพียง 1 – 2 กิโลเมตร เราอาจจะต้องใช้เวลา 3 – 4 ชั่วโมงเพื่อไปให้ถึง สำหรับคนที่ไม่ได้เจ็บป่วย

หลังอุทกภัยครั้งนี้ การใช้ศูนย์บริการสาธารณสุขประมาณ 8-10 แห่ง ร่วมกับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ทั้งในบริการรอบพื้นที่ศูนย์บริการสาธารณสุขและในจุดที่เข้าถึงได้ยาก เป็นกลยุทธ์ที่สามารถบรรเทาความทุกข์ยากของประชาชนในภาวะที่ระบบบริการต่าง ๆ ยังไม่สามารถดำเนินการได้สมบูรณ์ทั้งโรงพยาบาล และการคมนาคม ภาระของประชาชนในการต้องดูแลบ้านเรือนและทรัพย์สินของตน

อย่างไรก็ตาม ศูนย์บริการสาธารณสุขเกือบทุกแห่งล้วนถูกน้ำท่วมสูง 1 – 3 เมตร การเริ่มเปิดดำเนินการตั้งแต่น้ำลด ได้รับความช่วยเหลือจากชุมชนในการให้ใช้พื้นที่ที่ล้างทำความสะอาดแล้ว ได้รับความช่วยเหลือจากทีมหน่วยแพทย์ พยาบาลจากโรงพยาบาลต่าง ๆ ที่กระทรวงสาธารณสุขสนับสนุน นับเป็นการได้พึ่งพาอาศัยกันครั้งสำคัญและผู้เขียนซาบซึ้งต่อน้ำใจของทุกคนที่ร่วมแรงร่วมใจในการดำเนินการ

ในอีกด้านหนึ่ง ในภาวะน้ำท่วมเมื่อระบบต่าง ๆ จมอยู่ใต้น้ำ บทเรียนครั้งนี้ทำให้เราต้องย้อนกลับมาถึงเรื่องของการพึ่งตนเองให้มากขึ้น

บุคคลหรือครอบครัว

น่าจะมีการเก็บยาสามัญประจำบ้านหรือยาประจำโรคของตนเอาไว้ในบ้านหรือประจำตัว เพื่อเวลาจำเป็นหรือมีวิกฤตจะได้หยิบฉวยมาใช้ได้ ในภาวะอุทกภัยควรใส่ไว้ในภาชนะพลาสติกที่ปิดสนิทหรือในถุงพลาสติกที่ผูกมัดให้แน่นไม่ให้น้ำเข้าถ้าตกหล่นลงในน้ำหรือเก็บไว้ในที่สูงพ้นจากน้ำท่วมและสามารถหยิบฉวยได้ง่าย ในภาวะอุทกภัยการมีภาชนะพลาสติกที่ปิดได้สนิท เช่น ขวดหรือแกลลอนใช้เป็นชูชีพได้ หากต้องลงไปในน้ำหรือต้องเดินทางผ่านบริเวณที่น้ำท่วมสูงหรือน้ำเชี่ยว หากมีโฟมหรือเสื้อชูชีพอาจจะได้ใช้ประโยชน์เป็นอย่างมาก

ชุมชน

ศูนย์บริการสาธารณสุขหรือสถานีอนามัยและศูนย์บริการสาธารณสุขมูลฐานจำเป็นที่จะต้องตระหนักถึงภาระกิจการให้การรักษาพยาบาลเบื้องต้นมากขึ้น ทีมงานต้องรู้และมีทักษะการดูแลรักษาโรคเบื้องต้น บาดแผล การคลอด การลำเลียงผู้ป่วย ฯลฯ ยาและเวชภัณฑ์ฉุกเฉินต้องเตรียมไว้และอาจจะสำรองไว้ในที่ปลอดภัย หากน้ำท่วมสถานบริการหมดดังที่เกิดขึ้น เราต้องย้อนกลับมาคิดกับชุมชนว่าเราจะต้องเตรียมอะไรที่มากกว่าอดีต เราต้องเตรียมอาสาสมัคร เครื่องไม้เครื่องมือที่ช่วยชีวิต เครื่องมือลำเลียง เชือก ชูชีพ หรือถ้าชุมชนพร้อมเราอาจจะมีหน่วยกู้ภัยในชุมชน ทั้งการมีรถกู้ภัย เรือกู้ภัยที่เตรียมไว้ใช้ทั้งในยามปกติและฉุกเฉิน ชุมชนริมคลอง ริมแม่น้ำหรือริมทะเล เป็นจุดสำคัญที่เราน่าจะพัฒนาหน่วยกู้ภัยของแต่ละชุมชน เพราะจะสามารถปฏิบัติการได้ทั้งในยามปกติและช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ การช่วยเหลือกันของอาสาสมัครเอกชนหรือองค์กรท้องถิ่นต่างๆ ในภาวะอุทกภัยที่ผ่านมาเป็นเครื่องยืนยันความช่วยเหลือซึ่งใกล้ชิดและทันการณ์แม้ว่าจะมีศักยภาพด้อยกว่าหน่วยกู้ภัยของทหาร แต่ก็ทำให้เห็นว่าหน่วยเล็ก ๆ หากอยู่ในชุมชนเองรู้พื้นที่เล็ก ๆ อาจจะทำให้การช่วยเหลือกันในหมู่บ้านหรือชุมชน 100 – 200 ครัวเรือนได้รับการช่วยเหลือทันทีและทันท่วงที

องค์กรทางสาธารณสุข

ในภาวะปกติเรามีหน่วย EMS (Emergency Medical Service) และหน่วยเคลื่อนที่ต่าง ๆ ที่ออกไปให้บริการนอกโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล บทบาทหลักของเรามักเป็นการตั้งรับ เมื่อน้ำท่วมทุกสิ่งทุกอย่างหยุดนิ่ง เพราะหน่วยที่มีอยู่ไม่ได้มีความพร้อมที่จะรับวิบัติภัยขนาดนี้ การพยายามตั้งมั่นในสถานที่ตั้งให้ได้และจัดบริการให้ได้เป็นิสิ่งสำคัญที่สุดที่เราพยายามทำ แต่บทบาทที่เราควรจะเป็นที่พึ่งของชุมชนทางด้านสาธารณสุขก็กลายเป็นเรื่องไกลเกินไป เราคงต้องเริ่มต้นใหม่ในการจำแนกบทบาทและภาะกิจของแต่ละระดับของหน่วยบริการ คงจะไม่ไกลเกินไปที่จะคาดหวังว่าระดับอำเภอและส่วนกลางมีศักยภาพสูงกว่าระดับตำบล ระดับจังหวัดมีศักยภาพสูงกว่าระดับอำเภอและส่วนกลางมีศักยภาพสูงกว่าส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น คงไม่ใช่เป็นการเหนือกว่าทางสายบังคับบัญชา แต่คงจำเป็นที่จะต้องเหนือกว่าในการปฏิบัติภาระกิจ มีเรือ มีเฮลิคอปเตอร์ มีทีมที่มีศักยภาพมีเทคโนโลยีที่เข้ามาสนับสนุนตั้งแต่ประชาชนอยู่ในภาวะวิกฤต

เพื่อพัฒนาการพึ่งตนเอง หน่วยบริการระดับท้องถิ่นจะต้องพัฒนาศักยภาพทางด้านการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินและการส่งต่อที่แท้จริงไม่ใช่เพียงอยู่ในกระดาษ ทั้งในภาวะวิกฤตและภาวะปกติ โรงพยาบาลอำเภอ โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลจังหวัด คงต้องพัฒนาทีมที่มีศักยภาพพิเศษทั้งในภาวะปกติและวิกฤต รวมทั้งเครื่องไม้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่สามารถช่วยเหลือสนับสนุนหน่วยบริการท้องถิ่นและปฏิบัติการได้เอง การดำรงอยู่ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและกระทรวงสาธารณสุข คงไม่ใช่เป็นเพียงหน่วยงานธุรการขนาดใหญ่เพราะองค์กรเหล่านี้ประกอบด้วยบุคลากรทางสาธารณสุข ศักยภาพที่เหนือกว่าในการสนับสนุนและการปฏิบัติการช่วยเหลือองค์กรระดับล่างที่ประสบพิบัติภัยจำเป็นที่จะต้องพัฒนาขึ้น การบริหารจัดการและการปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนในยามวิกฤตในขณะที่หน่วยงานระดับล่างแม้แต่ระดับโรงพยาบาลศูนย์ประสบภัยเป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะต้องพัฒนาขึ้นเพื่อจะเป็นที่พึ่งของประชาชนและเป็นที่พึ่งพาได้ของหน่วยงานระดับล่าง หากสิ่งเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นเราคงจะต้องตระหนักในภาระกิจของเราในการพึ่งตนเองและพึ่งพาอาศัยกันในระดับหน่วยปฏิบัติการให้มากยิ่งขึ้น

5. บทส่งท้าย

พิบัติภัยจากอุทกภัยครั้งนี้ ยังคงเป็นบทที่เราต้องเรียน พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถึงอุทกภัยในหาดใหญ่และบทพระราชนิพนธ์พระมหาชนก ยิ่งทำให้เราตระหนักถึงการพัฒนาเพื่ออยู่ร่วมกับธรรมชาติ การพึ่งตนเองและความเพียรจะเป็นหนทางที่จะนำเราหลุดพ้นจากความทุกข์ที่เกิดขึ้น

พฤศจิกายน 2543

2553

น้ำท่วมหาดใหญ่ 2553 ดัดแปลงตนเองเพื่ออยู่ร่วมกับธรรมชาติ

น้ำท่วมใหญ่ในภาคอีสาน เป็นสัญญาณเตือนใหม่ถึงความเปลี่ยนแปลง ตอนแรกผมเข้าใจว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ แต่เมื่อต้องนั่งเฝ้าดูและฟังเสียงสายน้ำ สูงกว่าสองเมตรไหลผ่านชั้นหนึ่งของบ้านพัก กลับได้สำนึกถึงการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ ว่าแท้จริง เราหรือมนุษย์นั่นเองที่พยายามไปดัดแปลงธรรมชาติ แต่ธรรมชาติได้พยายามส่งสัญญาณการคงอยู่ของวิถีแห่งธรรมชาติมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน การพยายามดัดแปลงธรรมชาติของมนุษย์ ยิ่งเป็นการต่อสู้ที่ไม่อาจจะชนะ ธรรมชาติจะพยายามดำรงความเป็นธรรมชาติไว้อย่างนิรันดร หากไม่มีพระอาทิตย์ขึ้นตอนเช้า ลงตอนเย็น ไม่มีน้ำขึ้นและลง ไม่มีฤดูร้อน ฤดูฝน จะหมายความว่าธรรมชาติผ่ายแพ้ไปแล้วหรือ เราคงไม่อยากให้เกิดปรากฏการณ์นั้น

น้ำท่วมหาดใหญ่ปีนี้มาตั้งแต่ต้นฤดูฝน น้ำท่วมรุนแรงแบบนี้ไม่เคยมี แต่น้ำท่วมสูงขนาดนี้เมื่อผมยังเยาว์วัย เคยเกิดมาหลายครั้งแล้ว น้ำท่วมใหญ่และนานจนผมเคยถูกอพยพจากบ้านไปอยู่ที่อื่น หรือมีน้ำท่วมมากกว่าหนึ่งครั้งก็เคยมี คนหาดใหญ่เลือกมาอยู่ในชุมชนที่เป็นชุมทาง ที่แม้แต่น้ำก็ไหลมาบรรจบ ณ ที่นี้ ชุมชนนี้จึงเรียกตนเองว่าเป็นหาดใหญ่ มาแต่เก่าก่อน คนหาดใหญ่ยังจะอยู่ในชุมชนนี้ต่อไป เพราะการอยู่ที่นี่ เป็นที่ที่คนทั้งหลายจะมาบรรจบกัน มาอยู่อาศัย มาซื้อขาย มาศึกษาหาความรู้ เป็นชุมทางหาดใหญ่ ในเกือบทุกมิติ และเป็นชุมทางของสายน้ำหลายสาย

แต่น้ำท่วมปีนี้กลับเร็วและรุนแรงกว่าเดิม บ้านเมื่อวัยเด็กของผมอยู่ต่ำกว่าถนน 1 เมตร หลายสิบปีผ่านมาบ้านที่ผมอยู่อาศัยสูงกว่าเดิมเมตรครึ่ง แต่กลับต่ำกว่าถนนเกือบหนึ่งฟุต เมืองทั้งเมืองถูกถมสูงขึ้น มีเพียงบางพื้นที่ยังอยู่ต่ำลงไปใต้การขยับตัวขึ้นของเมือง เมื่อหลังปี 2543 ผมทบทวนความรู้ยังแปลกใจที่ตำราเขียนว่า เมืองคือสาเหตุที่ทำให้น้ำท่วมสูง 2-6 เท่า น้ำท่วมครั้งนี้จึงทำให้ผมเข้าใจถึงความจริงดังกล่าว ด้วยปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เป็นคำเฉลย เราดัดแปลงเมือง ดัดแปลงทางน้ำ แต่เราไม่เรียนรู้ที่จะดัดแปลงตนเอง

น้ำ ได้เดินทางมาในวิถีแห่งธรรมชาติ จากที่สูงลงสู่ที่ตำ จากแม่น้ำลำคลอง ไหลลงสู่มหานที และไหลผ่านเมืองหาดใหญ่ไปสู่ทะเลสาบสงขลา ไม่ว่าเราจะเปลี่ยนแปลงเมืองอย่างไร น้ำก็จะหาหนทางที่จะไหลไปยังทิศทางที่จะต้องไป ไม่ว่าจะไหลผ่านบ้านเรือนร้านค้า ถนนหนทางที่ถูกถมทับดัดแปลงไปอย่างไร น้ำก็จะหาทางไปจนได้ แม้จะทำให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งที่เขาพัดผ่าน

ย้อนกลับมาสู่พิบัติภัย ปีนี้น้ำท่วมบ้านผมในเวลากลางคืน ประมาณหนึ่งทุ่มวันที่ 1 พ.ย.ผมยังยืนอยู่บนสะพานคลองอู่ตะเภา ธงเหลืองยังไหวสะบัด ผมเชื่อว่าตนเองพร้อมที่จะรับอุทกภัย ข้าวปลาอาหาร น้ำดื่ม น้ำใช้ ข้าวของสำคัญอยู่ในที่ๆปลอดภัย ประสบการณ์เดิมทำให้เตรียมตน แต่ประสบการณ์เดิม เชื่อว่าเราจะมีเวลาอีก 5-8 ชม.สำหรับน้ำท่วมถึง และอีกสักหนึ่งวัน หากจะเป็นน้ำท่วมใหญ่แบบปี 2543 เมื่อเดินกลับบ้านซึ่งห่างจากคลองประมาณสามร้อยเมตร ร้านรถเข็นขายไก่ทอดกำลังเก็บร้าน บอกอีกหนึ่งชั่วโมงจะมีการปล่อยน้ำ สองทุ่มผมช่วยภรรยาเก็บของที่ควรเก็บไว้ที่สูง ของสำคัญทยอยขึ้นชั้นสอง อีกหนึ่งชั่วโมงต่อมาน้ำสูงถึงอก เกินที่ประมาณไว้ ของที่พอเก็บได้เริ่มทยอยขึ้นชั้นบน และสามทุ่มไฟฟ้าก็ดับลง แม้ว่าผมจะพอมีเทียนส่องสว่าง และยังคงทยอยขยับสิ่งของที่พอจะขึ้นชั้นสองได้ จนเมื่อเที่ยงคืนมาถึงและน้ำท่วมสูงเกินกว่าจะยืนได้ การพยายามจัดการช่วยเหลือทรัพย์สินที่ต้องจมอยู่ใต้น้ำก็ยุติลง อีกสามชั่วโมงต่อมาน้ำท่วมในบ้านผมกว่าสองเมตร ในชุมชนเดิมด้านหลังบ้านสูงกว่าสามเมตร และผมได้กลับไปสู่ห้วงคิดคำนึงถึงอดีตที่ยังคงชัดเจนถึงพิบัติภัยที่คนทั้งหลายได้ร่วมทุกข์ร่วมกัน หลายชีวิตคงจมอยู่ในภัยพิบัติอันยากลำบากและหนาวเหน็บ จากบ้านชั้นเดียวหรือสองชั้นที่น้ำท่วมถึงสู่หลังคากลางสายฝนและความหนาวเย็น แม้ว่าผมจะเชื่อมั่นถึงวุฒิภาวะของคนหาดใหญ่ในภัยพิบัติที่เราได้ประสบมาชั่วอายุขัยของเรา แต่ในหมู่ชนทั้งหลายที่ได้มาอาศัยอยู่ในหาดใหญ่ คงยากที่จะหลีกหนีความทุกข์เข็ญจากภัยในครั้งนี้

ผมคงจะอยู่ที่หาดใหญ่ต่อไปเช่นเดียวกับคนหาดใหญ่อีกมากมาย สิ่งที่ต้องเปลี่ยนไปคืออยู่แบบใดให้สอดคล้องกับธรรมชาติ โจทย์ที่ยากคือแล้วธรรมชาติจะเป็นแบบใด ในเมื่อมีความพยายามดัดแปลงธรรมชาติจนเรายากจะเข้าใจว่าธรรมชาติจะเลือกใช้วิธีใดที่จะสั่งสอนให้มนุษย์ได้รู้จักและเข้าใจวิถีแห่งธรรมชาติ อีกสองปีข้างหน้าจะเป็นรอบที่น้ำท่วมใหญ่อีกครั้ง ผมนั่งลงคิด พิจารณา และ ทบทวนอย่างจริงจัง หวังว่าตัวเองจะแสวงหาวิถีที่จะดัดแปลงตนเองให้รับมือกับหาดใหญ่ที่ถูกดัดแปลง และดัดแปลงตนเองให้รับมือกับความเชี่ยวกรากของสายน้ำ ที่ธรรมชาติจะมาให้บทเรียนใหม่ๆในอนาคตอันใกล้มาถึงในไม่ช้า

พฤศจิกายน 2553

Relate topics