SCCCRN

น้ำมา น้ำตาจะไม่ไหล เมื่อทุกหัวใจร่วมไขปัญหา

by Little Bear @20 ธ.ค. 54 21:00 ( IP : 122...83 ) | Tags : ความรู้ , หาดใหญ่โมเดล

คอลัมน์ คุยกับคอลัมนิสต์: หาดใหญ่โมเดล

Posted on พฤศจิกายน 25, 2011

เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

น้ำมา น้ำตาจะไม่ไหล เมื่อทุกหัวใจร่วมไขปัญหา

กลไก การจัดการสถานการณ์ภัยพิบัติปัจจุบัน ชี้ชัดว่าสังคมไทยไม่อาจรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินได้ ยิ่งอนาคตมีแนวโน้มที่ภัยธรรมชาติจะเกิดขึ้นถี่ และส่งผลเลวร้ายขึ้นเรื่อยๆ สังคมยิ่งต้องเร่งเสนอทางออก โดยสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ยกร่างข้อเสนอขอให้ชุมชนเข้มแข็ง เป็น ‘ศูนย์จัดการภัยพิบัติ’ และจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำในพื้นที่ได้เอง หนุนเสริมพลังการทำงานกับภาครัฐทุกระดับ

‘หาดใหญ่โมเดล’ กรณีศึกษาการจัดการภัยพิบัติระดับชุมชนเมื่อปลายปี 2553 ซึ่งออกแบบจากประสบการณ์อุทกภัยครั้งสำคัญของชาวหาดใหญ่ ความทุกข์ยากครั้งนั้น แม้จะมีแผนป้องกันน้ำท่วมรองรับ ทั้งระดับชาติ ระดับจังหวัด และท้องถิ่น แต่เมื่อปฏิบัติจริงกลับไม่ได้ผล

ชาคริต โภชะเรือง กรรมการมูลนิธิชุมชนสงขลาและประธานเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลา ในฐานะผู้ช่วยเลขานุการคณะทำงานวิชาการเฉพาะประเด็น ‘การจัดการภัยพิบัติ’ หนึ่งในระเบียบวาระที่จะพิจารณากันในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4 พ.ศ.2554 ได้สะท้อนบทเรียนที่เกิดขึ้นว่า หาดใหญ่เป็นชุมชนเมือง มีชุมชนเป็นร้อยชุมชน แต่มีแผนปฏิบัติการเพียงชุดเดียว ซึ่งใช้ครอบคลุมหมดไม่ได้ จึงทำให้การแก้ปัญหาไม่ได้ผล

“ปีนี้ เราจึงต้องแตกแยกย่อยแผน แล้วชวนคนมาสำรวจข้อมูลในชุมชนของตัวเองว่าน้ำไหลเข้ามาทิศทางไหน ออกทางไหน บ้านไหนมีคนป่วย คนพิการ โดยระบุเลยว่าแต่ละซอย ใครจะเป็นผู้ประสานงานหลัก จากนั้นก็ทำแผนที่สำรวจร่วมกัน โดยดูว่าถ้าเกิดเหตุขึ้น ตรงไหนเป็นจุดเสี่ยง เราจะอพยพคนไปตรงไหน และซักซ้อมแผนอพยพด้วย”

ชาคริต กล่าวว่า กระบวนการดังกล่าวทำเพื่อให้ประชาชนตื่นตัว เรียนรู้ และพลิกฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างกันที่เคยหายไปให้กลับคืนมา สิ่งสำคัญคือ ชุมชนต้องทำงานคู่ไปกับภาครัฐ จึงจะรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ เพราะทุกวันนี้พอเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินก็จะหาคนรับผิดชอบไม่ได้ ข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ก็ไม่ตรงกัน หากจะพึ่งเฉพาะภาครัฐอาจช้าเกินไป เพราะกระบวนการของทางราชการต้องเป็นลำดับขั้นตอนและแยกส่วน บางหน่วยงานก็มีภารกิจซ้ำซ้อน ไม่ก็โยนกันไปมา เมื่อข้อมูลและการเตือนภัยจากภาครัฐไม่มีประสิทธิภาพพอ ข่าวลือก็เกิดขึ้นแพร่ไปทั่ว ซ้ำเติมสถานการณ์ให้ทรุดลงอีก

“คำ ถามคือ เราต้องเป็นฝ่ายติดตามการพยากรณ์ หรือเตือนภัยจากรัฐฝ่ายเดียวหรือ จะทำอย่างไรให้คนในชุมชน โดยเฉพาะเยาวชน เรียนรู้การอ่านเครื่องมือพยากรณ์ด้วยตัวเอง ส่วนระบบพยากรณ์ของรัฐก็ควรรับลูกกันระหว่างกรมอุตุนิยมและกรมชลประทาน ที่นี่ เราพยายามทำในระดับจังหวัด โดยแต่งตั้งทีมชุดหนึ่งที่มีข้อมูล ความรู้ พร้อมทำงานเป็นทีมเมื่อเกิดเหตุ เพราะเวลาเกิดเหตุ มันจะเกิดรวดเร็วมาก ขืนรอตั้งทีมตอนนั้นย่อมไม่ทันการณ์ และเมื่อกลไกจังหวัดชัดก็จะส่งไม้ต่อมาที่ชุมชน ชุมชนจะมีคนกลางช่วยประสานในชุมชนย่อยๆ ต่อไป

“นอกจากนั้น เรายังใช้กล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ช่วยให้เห็นสถานการณ์ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ พร้อมเตรียมระบบสื่อสารสำรองไว้ ซึ่งตอนนี้ หลายองค์กรก็เตรียมวิทยุสื่อสารไว้ใช้แล้วในยามที่มือถือไม่มีสัญญาณ หรือระบบไฟฟ้าถูกตัดขาด”

จากคำบอกเล่าของประธานเครือข่าย สมัชชาสุขภาพจังหวัดสงขลา เห็นได้ว่า ปัญหาสำคัญของการแก้ปัญหาน้ำท่วมไม่ได้ผลนั้น อยู่ที่การ ขาดข้อมูลระดับชุมชน เพื่อการวางแผนรองรับน้ำท่วม

พื้นที่ หาดใหญ่ แม้การเตรียมพร้อมระดับชุมชนค่อนข้างเข้มแข็ง แต่ก็ยังถือว่าติดขัด “ปัญหาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือการใช้งบประมาณ ถ้าท้องถิ่นใช้งบฯ ซื้อของล่วงหน้าก็จะถูกกล่าวหาว่าทุจริต แต่ถ้ารอให้เกิดเหตุก็จะไม่ทันการณ์ หาดใหญ่ของเราจึงผลักดันร่วมกันทุกชุมชนในการทำข้อตกลงกับหน่วยงานท้องถิ่น พอถึงฤดูน้ำท่วม เราจะให้ร้านค้าซื้ออาหารมาตุนไว้เป็นเสบียงยามฉุกเฉิน พอน้ำลดก็เคลียร์เงินกัน” ชาคริต สรุป

“ถ้าจะเสนอนโยบาย เราขอเสนอให้ตั้งกองทุนเพื่อตอบสนองชุมชนที่ต้องการจัดการภัยพิบัติอย่าง จริงจัง โดยพิจารณาความเหมาะสมสอดคล้องของรูปแบบการทำงานแต่ละพื้นที่ซึ่งมี ภูมิประเทศต่างกัน ต้องคุยกันให้ชัดระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ รวมทั้งกลุ่มอาสาสมัครเฝ้าระวังภัยที่ต้องซักซ้อมอย่างสม่ำเสมอและเป็นระบบ”

ด้าน สุรพล ปัตตานี รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับการให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมป้องกันภัยพิบัติ รวมทั้งตัดสินใจในแผนและวิธีการบริหารจัดการลุ่มน้ำของตน

“จาก ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้ เราต้องกลับไปมองที่สาเหตุว่า เราเตรียมพร้อมดีพอหรือยัง อย่างลุ่มน้ำเจ้าพระยา เป็นลุ่มน้ำที่รวมน้ำจากลุ่มน้ำสาขา 8 แห่ง และก่อนจะเป็นลุ่มน้ำสาขา ก็มีลุ่มน้ำเล็กๆ ที่ไหลมารวมกันอีกจำนวนมาก เราควรมีระบบการจัดการลุ่มน้ำระดับเล็กๆ ที่เป็นต้นเหตุสะสมของลุ่มน้ำขนาดใหญ่

“ผมอยากเห็นรูปแบบการ บริหารจัดการที่ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เพราะที่เป็นอยู่ ชุมชนยังมีส่วนร่วมน้อยมากในเชิงนโยบาย ผมคิดว่าชุมชนน่าจะเข้ามาช่วยเตรียมการ ตั้งแต่การวางแผนและการบริหารจัดการ พอเกิดภัยพิบัติ ชุมชนก็จะเป็นผู้ให้ข้อมูลกับภาครัฐได้ดีที่สุด ถ้าเราเตรียมชุมชนอย่างเป็นระบบ เราจะจัดการปัญหาได้รวดเร็วและแม่นยำ เราอยากเห็นชุมชนบริหารและตัดสินใจเรื่องลุ่มน้ำขนาดเล็กของตัวเองร้อยละ 100 โดยรัฐเป็นเพียงหน่วยงานสนับสนุนและให้คำปรึกษา ทั้งภาวะปกติและยามวิกฤติ” สุรพล กล่าว ไม่เฉพาะผู้มีประสบการณ์เรื่องน้ำและภัยพิบัติทั้งสอง ผู้เข้าร่วมสมัชชาสุขภาพแห่งชาตินับพันจากกว่า 200 เครือข่ายองค์กร จะร่วมกันพิจารณาข้อเสนอเชิงนโยบายในระเบียบวาระ ‘การจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนเป็นศูนย์กลาง’ และ ‘การบริหารจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำขนาดเล็กอย่างยั่งยืนฯ’ ในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4 โดยสาระสำคัญในร่างข้อเสนอคือ ขอให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย เป็นเจ้าภาพหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จัดให้มีการทบทวนและปรับปรุงแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติแบบมีส่วน ร่วมกับทุกภาคส่วน

ที่สำคัญ ต้องให้ชุมชนเป็นศูนย์กลางในการจัดการภัยพิบัติ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคอยสนับสนุน จัดตั้งกลุ่มอาสาสมัครเพื่อจัดการปัญหาภัยพิบัติอย่างเป็นระบบเครือข่าย ระดับชาติ ดำเนินงานร่วมกับเครือข่ายอาสาสมัครภาคเอกชน ทั้งนี้ ในร่างมติดังกล่าวยังขอให้มีการจัดทำบัญชีรายชื่ออาสาสมัครและผู้เชี่ยวชาญ ด้าน ต่างๆ ให้มีการจัดหลักสูตรอบรม การ ฝึกซ้อมและการปฏิบัติการค้นหาและ ช่วยเหลือ

อย่างไรก็ตาม จากสาระสำคัญในร่างข้อเสนอฯ ข้างต้น ยังจำต้องรอความเห็นจากกลุ่มองค์กรทุกภาคส่วน ทั้งเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัด หน่วยงานภาคีในพื้นที่ อาทิ สภาองค์กรชุมชน สภาพัฒนาการเมือง เครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุข และเครือข่ายจิตอาสา ร่วมหนุนการจัดสมัชชาสุขภาพจังหวัดหรือเวทีสาธารณะรูปแบบอื่น เพื่อร่วมผลักดันการจัดการภัยพิบัติให้เป็นรูปธรรม

หากมีความ เป็นไปได้ที่ทุกฝ่ายจะหันหน้ามาผนึกความคิดและสานพลังร่วมฝ่าวิกฤติ ‘น้ำมา’ คราวหน้า พี่น้องก็จะไม่ ‘น้ำตาตก’ อีก

วิสุทธิ บุญญะโสภิต

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)

Relate topics